วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สำนวน สุภาษิต น่ารู้

สำนวน สุภาษิต น่ารู้


สุภาษิต คือ คำพูดที่ถือเป็นคติ มีความลึกซึ้ง ใช้สั่งสอน ถือเป็นการวางแนวและแสดงค่านิยมของมนุษย์มาแต่โบราณกาล เช่น สุภาษิตสอนหญิง สุภาษิตพระร่วง ก็มีข้อความสั่งสอนที่แสดงค่านิยมของสมัยนั้น ๆ ไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนพุทธภาษิตคำสั่งสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา เช่น


"รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี (สุภาษิต)
"บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" (พุทธศาสนาสุภาษิต)
คำพังเพย เป็นคำเปรียบเทียบเรื่องต่าง ๆ เพื่อใช้ติชม ซึ่งสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อถือ และค่านิยม อันเป็นลักษณะของคนไทย เช่น ค่านิยมในการยกย่องผู้มีอาวุโส เคารพครูบา
ตำลึงทอง"
หมายความว่า พูดไปไม่มีประโยชน์นิ่งเสียดีกว่า

สำนวน คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นโดยมีความหมายพิเศษ ไม่ครงกับความหมายที่ใช้ตามปกติ ทั้งนี้อาจจะเป็นคำที่มีความหมายโดยนัย หรือความหมายในเชิงเปรียบเทียบ เป็นลักษณะคำพูดที่รวมใจความยาว ๆ ให้กะทัดรัด บางสำนวนอาจหมายถึงสุภาษิตและคำพังเพยด้วย เช่น
"ป้ามาลีรู้ตื้นลึกหนาบางของคุณนายสุรีย์หมด"
หมายความว่า รู้ความเป็นมาอย่างละเอียด



คุณค่าของสำนวน

๑.) เป็นเครื่องอบรมสั่งสอนและชี้แนะให้เป็นคนดี- ในด้านความรัก : คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย, น้ำพึ่งเสือพึ่งป่า - ในด้านการศึกษาอบรม : ฝนทั่งให้เป็นเข็ม, สิบรู้ไม่เท่าชำนาญ - ในการพูดจา : พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย ,พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
๒.) สำนวนไทยช่วยสะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อในสังคมไทย- ความเคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ เช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด - ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อกรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว - ความเชื่อเกี่ยวกับการปกครอง เช่น บ้านเมืองมีขื่อมีแป- ความเชื่อเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง เช่น ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
๓.) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเป็นอยู่ - เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการครองชีพ เช่น เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย- เกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก
๔.) ชี้ให้เห็นว่าคนไทยรักธรรมชาติเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก จึงได้นำเอาลักษณะธรรมชาติสัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ มาตั้งเป็นสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่างๆ
๕.) การศึกษาสำนวนต่างๆ ช่วยทำให้เราใช้ภาษาได้ถูกต้องและสละสลวย ไม่ต้องใช้คำพูดที่เยิ่นเย้อยืดยาว แต่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้มาก นอกจากนั้นการศึกษาสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนของภาคต่างๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ภาษาถิ่นไปด้วยในตัว
๖.) การเรียนรู้เรื่องสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่างๆ เป็นการสืบต่อวัฒนธรรมของชาติเอาไว้มิให้สูญหาย และเกิดความภูมิใจที่บรรพชนได้คิดสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้แกเเรา




สุภาษิต และ สำนวนไทย

กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี : สำนวนคำพังเพยประโยคนี้เป็นสำนวนเก่า ซึ่งอาจจะมีมาจากครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้เพราะปรากฏมีหลักฐานในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนเถรกวาดแก้แค้นพลายชุมพลตอนหนึ่งด้วยว่า " คนดีไม่สิ้นอยุธยา " สำนวนนี้เป็นความหมาย ี้อธิบายอยู่ในตัวแล้ว " คนดี " ก็คือคนเก่งหรือผู้มีความสามารถในทางต่อสู้และความคิดอยู่พร้อม อย่าชะล่าใจนักจักเสียที.


กลิ้งครกขึ้นภูเขา : สำนวนนี้ มักจะพูดกันว่า ''เข็นครกขึ้นภูเขา '' กันส่วนมาก แต่แท้จริง '' ครก '' ต้องทำกริยา '' กลิ้ง '' ขึ้นไปจึงจะถูก กล่าวคำว่า '' เข็น '' แปลว่า เรื่องที่กำลังจะทำหรือจะทำให้สำเร็จบรรลุผลนั้น ยากลำบากแสนเข็ญมิใช่ของที่ทำได้ง่ายนักเปรียบได้กับ การกลิ้งครกขึ้นภูเขาไปสู่ยอดเขากลืนไม่เข้าคายไม่ออก : แปลว่าหมดหนทางที่จะทำหรือไม่รู้จะทำอย่างไรดีหรือ เป็นการทำให้ตัดสินใจไม่ถูก เพราะจะไม่ทำลงไปก็ไม่ดี ทำลงไปก็ไม่ดีเป็นการยากที่จะตัดสินใจทำลงไปได้ง่าย เหมือนก้างปลาหรือเศษอาหารอะไรอย่างหนึ่ง เข้าไปติดอยู่กลางลำคอกลืนก็ไม่เข้าคายก็ไม่ออก.


กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ : สำนวนพังเพยนี้ มาจากการคั่วถั่วกับงาในกระทะเดียวกัน ถั่วเป็นของสุกช้างาสุกเร็วมัวรอไห้ถั่วสุก งาก็ไหม้เสียก่อน สำนวนนี้หมายถึงการทำอะไรสองอย่างพร้อมกันหรือทำอะไรสักอย่างที่ไม่รอบคอบ มัวคิดแต่จะได้ทางหนึ่งต้องเสียทางหนึ่งในความหมายอีกแง่ก็แปลว่าการทำอะไรมัวรีรออยู่ ไม่รีบลงมือทำเสียแต่แรกครั้นพอลงมือจะทำ ก็ไม่ทันการเสียแล้วเพราะคนอื่นเขาเอาไปทำเสียก่อน.

กำขี้ดีกว่ากำตด : ความหมายว่า ได้ในสิ่งที่เห็นหรือเป็นของได้แน่ ดีกว่าคิดอยากได้ในสิ่งหรือของที่ไม่เห็นเหมือนไม่มีตัวตน การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อพ่อไม่สู้ใคร : สำนวนนี้อธิบายความหมายอยู่ในตัวแล้วแสดงว่า เรื่องกินแล้วเก่งจนไม่มีใครสู้แต่ถ้าเรื่องงานแล้วยอมแพ้ ซึ่งแปลว่าขี้เกียจนั้นเอง.

กินที่ลับไข่ที่แจ้ง : สำนวนนี้ มีความหมายไปในทำนองที่ว่า ทำอะไรไว้ในที่ลับแล้วอดปากไว้ไม่ได้เอามาเปิดเผย ให้คนทั้งหลายรู้เพื่อจะอวดว่าตนกล้าหรือสามารถทำอย่างนั้นได้โดยไม่กลัวใครผิดกฎหมาย อะไรทำนองนั้นหรือไม่กลัว กินน้ำใต้ศอก : หมายไปในทางที่ว่าถึงจะได้อะไรสักอย่างก็ไม่เทียมหน้าหรือไม่เสมอหน้าเขา เช่นหญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย ก็เรียกว่า "กินน้ำใต้ศอกเขา" ที่มาของสำนวนนี้ คนในสมัยก่อนอธิบายว่า คนหนึ่งเอาสองมือกอบน้ำมากิน มากิน อีกคนหนึ่งรอหิวไม่ไหวเลยเอาปากเข้าไปรองน้ำที่ไหลลงมาข้อศอก ของคนกอบน้ำกินนั้นเพราะรอหิวไม่ทันใจ.

กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา : แปลว่าคนที่เนรคุณคนเปรียบได้กับคนที่อาศัยพักพิงบ้านเขาอยู่แล้ว คิดทำมิด ีมิชอบให้เกิดขึ้นภายในบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้านที่ให้อาศัยต้องเดือดร้อนคนโบราณเอาลักษณะของแมวที่ไม่ดี คือกินแล้วไม่ขี้ให้เป็นที่กลับขึ้นไปขี้บนหลังคาให้เป็นที่สกปรกเลอะเทอะเพราะคนสมัยก่อนต้องการให้หลังคาสะอาดเพื่อรองน้ำฝนไว้กินจึงเอาแมวชั่วนี้ มาเปรียบเทียบกับคนชั่วที่ไม่รู้จักบุญคุณคน.

กินปูนร้อนท้อง : สำนวนนี้มาจากตุ๊กแก ว่ากันว่า ตุ๊กแกที่กินปูน (ปูนแดงที่กินกับหมากพลู )มักจะทำอาการกระวนกระวาย ส่งเสียงร้องแกร็กๆ เหมือนอาการร้อนท้องหรือปวดท้องจึงนำเอามาเปรียบกันคนที่ทำพิรุธหรือทำอะไรไว้ไม่อยากให้ใครรู้แต่เผอิญมีใครไปแคะได้ หรือเรียบเคียงเข้าหน่อยทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เจตนาเจาะจงแต่ตัวเอง ก็แสดงอาการเป็นเชิงเดือดร้อนออกมาให้เขารู้ สำนวนนี้มักพูดกันว่า " ตุ๊กแกกินปูนร้อนท้อง ".


กินน้ำเห็นปลิง : แปลว่า สิ่งใดที่ต้องการ ถ้าสิ่งนั้นมีสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ทำให้รังเกียจหรือตะขิดตะขวงใจไม่อยากได้เปรียบดังที่ว่าปลิงเป็นสัตว์น่ารังเกียจอยู่ในน้ำ เวลากินน้ำมองเห็นปลิงเข้าก็รู้สึกรังเกียจขยะแขยงไม่อยากกินสำนวนนี้มีนักเขียนเอามาเขียนเอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง.

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน : " เบี้ย " ในสมัยก่อนเป็นพวกหอยชนิดหนึ่งเรียกว่า " เบี้ยจั่น " ใช้เป็นเงินแลกเปลี่ยนซื้อของได้ แต่มีราคาต่ำแปลตามตัวอักษรนี้ก็ว่าเก็บเบี้ยที่ตกอยู่ตามใต้ถุนร้าน หรือแผงลอยวางของขายซึ่งตกหล่นอยู่บ้าง เพราะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเบี้ยกับของโดยไม่เห็นว่าจะเป็นเบี้ยมีราคาต่ำ สำนวนนี้จึงแปลความหมายว่าถึงจะทำงานเล็กใหญ่ หรือค้าขายอะไรก็ตาม ก็พยายามค่อย ๆ ทำให้มีผลได้แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้หลุดลอยไปเสีย.

ใกล้เกลือกินด่าง : หมายความว่า สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ไม่เอา กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายากเปรียบได้ว่าเกลือหาง่ายกว่าด่าง ความหมายอีกทางหนึ่งหมายถึงว่าอยู่ใกล้กับของดีแท้ ๆ แต่ไม่ได้รับเพราะกลับไปคว้าเอาของที่ดี หรือมีราคาด้อยกว่าคือด่างซึ่งมีรสกร่อยหรืออ่อนเค็มกว่าเกลือ.

ขนมพอผสมกับน้ำยา : ที่มาของสำนวนคำพังเพยนี้เข้าใจว่ามาจาก " ขนมจีนน้ำยา " ที่เราเคยรับประทานกันมาแล้ว คือ ขนมจีนกับน้ำยาจะต้องผสมให้เข้ากันหรือได้ส่วนพอเหมาะ จึงจะรับประทานอร่อยเรียกว่าเวลาตักน้ำยาราดขนมลงบนขนมจีน ต้องกะส่วนให้พอลงคลุกผสมกับขนมจีนได้พอเหมาะ หรือให้มีสัดส่วนเข้ากันพอดีทั้งสองฝ่าย เมื่อรับประทานแล้วเกิดอร่อยไม่ใช่ว่าขนมจีนอร่อย หรือน้ำยาอร่อยแต่อร่อยด้วยกันทั้งสองอย่าง เรียกว่า " พอดีกัน " จึงเกิดเป็นสำนวนที่ตีความหมายเอาว่า ทั้งสองฝ่ายต่างพอดีกัน จะว่าข้างไหนดีก็ไม่ได้.


ขี่ช้างจับตั๊กแตน : หมายความว่า ลงทุนเสียมากมายเพื่อทำงานเล็ก ๆ เท่านั้น เป็นทำนองว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุน หรือทำให้เป็นการใหญ่โตเลย หรือแปลความหมายสั้น ๆ " ทำงานใหญ่เกินตัว "

ขี่ช้างอย่าวางของ : เป็นสำนวนเปรียบเทียบเตือนใจว่าการที่มีลูกน้อง หรือมีผู้น้อยอยู่ในความปกครอง บังคับบัญชาของเรา ก็อย่าประมาทละเลยเสีย ต้องหมั่นกวดขันกำชับ เปรียบได้กับคนขี่ช้างต้องคอยถือขอสับช้างบังคับช้างไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้าวางของหรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้ ช้างก็อาจพาลเกเรไม่ทำงานได้. ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น : สำนวนนี้หมายถึง การทำอะไรที่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่วร้ายเลวทรามหรือการทุจริต โดยไม่มีความละอายใจให้ผู้อื่นเห็น โดยเฉพาะหมายถึงผู้ใหญ่ที่ทำให้ผู้น้อยเห็นอย่างชัดแจ้ง.


เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม : แปลตามประโยคสำนวนก็ว่า เข้าเมืองตาบอดข้างเดียว ถึงแม้ตาเราไม่บอด ก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวตามเขาไปด้วย ( ตาหลิ่ว ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียวหรือคนตาเดียว ไม่ใช่หมายถึงทำตาหลิ่ว หรือหลิ่วตา ) หมายความว่า ที่แห่งใดเขาประพฤติตามเขาไปด้วย อย่าไปประพฤติ
ขัดแย้งกับเขา.


ขว้างงูไม่พ้นคอ : หมายความว่า มีภาระหรือมีเรื่องเดือดร้อน ทั้งของตนเองและที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ไม่สามารถจะแก้ไขให้รอดพ้นไปได้. ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง : สำนวนนี่เปรียบเทียบได้สองทาง ทางหนึ่งก็หมายถึงสิ่งที่แลดูภายนอกเป็นของดีหรือของแท้ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ของดี หรือของแท้นัก อีกทางหนึ่งก็เปรียบได้กับสตรีที่งามแต่รูป แต่กิริยาและความประพฤติไม่ดี หรืองามเหมือนรูป ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า " ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง " ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง : สำนวนตรงข้ามกับ " ข้างนอกสุกใส " คือดูแต่ภายนอกไม่งาม แต่แท้จริงกลับเป็นของแท้ของงาม สตรีที่มีรูปร่างขี้ริ้วไม่งดงาม แต่กิริยามารยาทเรียบร้อย จิตใจก็ดีงาม ตรงข้ามกับรูปร่าง.


เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า : สำนวนนี้ เวลาพูดมักจะใช้คำตรง ๆ ว่า " เขียนด้วยมือลบด้วยตีน " เป็นความเปรียบเปรยถึง คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ หรือเปรียบอีกทางหนึ่งถึงคนที่ออกคำสั่ง หรือให้สัญญาไว้แต่แรกอย่างหนึ่ง แล้วปุบปับกลับเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือสัญญานั้นเสีย ให้อยู่ในลักษณะตรงข้ามโดยไม่มีเหตุผล.



ข้าวใหม่ปลามัน : คนในสมัยโบราณถือว่า " ข้าวใหม่ปลามัน " คือข้าวที่เก็บเกี่ยวในครึ่งปีหลัง เป็นข้าวที่ดีกว่าข้าวเก่า และปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว " ปลามัน " หมายถึงปลาในฟดุน้ำลดมีมันมาก รับประทานอร่อย จึงมาผูกเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบเช่น สามีภรรยาที่เพิ่งจะแต่งงานกันใหม่ ๆ ย่อมจะอยู่ในระหว่างกำลังเสพสุขสมรสมีรสชาติ.

คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย : สำนวนนี้เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อเวลาไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัยนัก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกว่า " หัวหาย " ถ้าไปด้วยกันสองคน ก็อาจจะช่วยขจัดเหตุร้ายหรือเป็นเพื่อนอุ่นใจได้ดีกว่าไปคนเดียว.


คนตายขายคนเป็น : หมายถึงคนที่ตายไปแล้ว มีหนี้สินติดตัวอยู่มาก ทำให้คนที่อยู่ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติพี่น้องต้องรับผิดชอบใช้หนี้ และมิหนำซ้ำต้องเป็นภาระในการจัดทำศพ ซึ่งถ้าหากไม่มีเงินเลยก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาทำศพด้วย. คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ : เปรียบผืนหนังของสัตว์ส่วนมากย่อมจะมีผืนเล็กกว่าเสื่อ ฉะนั้นสำนวนนี้ก็หมายถึงว่า คนที่จะรักเราจริง ๆ มีน้อยแต่คนเกลียดหรือคนชังเรามีเป็นส่วนมากกว่า.


คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม : แปลว่า คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้.


คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล : สำนวนนี้ มีความหมายหรือคำบรรยายอยู่ในตัวแล้ว คือคบคนชั่ว คนชั่วก็ชักพาเราให้พลอยไปทำชั่วด้วย ถ้าคบคนดีมีความรู้ ก็ทำให้เราได้รับผลดีหรือได้รับความรู้ดีตามไปด้วย.


ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก : หมายความว่า มีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไขหรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก กลายเป็น ๒ เรื่องขึ้นในคราวเดียว.

ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด : สำนวนนี้ หมายถึงคนที่มีวิชาความรู้ดี หรือรู้สารพัดเกือบทุกอย่าง แต่ถึงคราวเกิดเรื่องขึ้นกับตัวเอง กลับจนปัญญาแก้ไข หรือความหมายอีกทางหนึ่งว่า มีความรู้อยู่มากมายแต่ใช้วิชาหากินไม่ถูกช่อง ทำให้ต้องตกอยู่ในฐานะยากจนอยู่เรื่อยมา สู้คนที่ไม่รู้หนังสือเลย แต่หากินจนร่ำรวยไม่ได้.


โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ : สำนวนนี้ มีประโยคต่อท้ายสัมผัสกันด้วยว่า " ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก " แต่เรามักพูดสั้น ๆ ว่า " โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ " หมายความว่าจะคิดกำจัดศัตรู ปราบพวกคนพาลให้หมดสิ้นทีเดียวแล้ว ก็ต้องปราบให้เรียบอย่าให้พรรคพวกของมันเหลือไว้เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นพวกที่เหลือนี้จะกลับฟื้นฟูกำลังขึ้นมาเป็นศัตรูกับเราภายหน้าได้อีก ทำนองเดียวกับที่ว่า ถ้าเราจะขุดตอไม้ทิ้ง เราก็ต้องขุดทั้งรากทั้งโคนมันออกให้หมดอย่าให้เหลือไว้จนมันงอกขึ้นมาภายหลังได้อีก.



ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ : สำนวนนี้ มักใช้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ชาย ซึ่งตามหลักที่ว่าผู้ชายจะทำอะไรก็ต้องให้เก่งกล้าหรือองอาจ ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง เดียวกัน.


ชายสามโบสถ์ หญิงสามผัว : สำนวนนี้ ประโยคแรกหมายถึง ผู้ชายที่บวชเป็นพระ ๓ ครั้งคือบวชแล้วสึก สึกแล้วบวชอีกถึง ๓ หนด้วยกัน ส่วน "หญิงสามผัว" นั้นคือหญิงที่แต่งงานแล้วมีสามีมาแล้ว ๓ ครั้งหรือ ๓ คน โดยมีสามีคนแรกแล้วเลิกร้างกันไป มามีคนที่สองเลิกล้างกันไปอีกจนถึงคนที่สามก็ต้องเลิกล้างกันไปอีก สำนวนนี้หมายความว่าผู้ชายที่บวชมาแล้ว ๓ ครั้ง กับผู้หญิงที่ผ่านการมีสามีมาแล้ว ๓ คน โบราณมีข้อห้ามมิให้เพศตรงข้ามไปมีสัมพันธ์ทางรักใคร่หรือชู้สาวด้วย คือผู้หญิงก็ไม่ควรไปมีสามีชนิดนี้ หรือผู้ชายก็ไม่ควรไปมีภรรยาชนิดนี้เข้า ซึ่งตามความเข้าใจว่าบุคคลชนิดนี้ใจคอไม่มั่นคงหรือรวนเลได้โดยสังเกตเอาอาการกระทำเป็นเครื่องวัด แต่ตกมาถึงสมัยนี้ เข้าใจว่า คงจะไม่มีใครค่อยเชื่อว่าถือกันเท่าไรนัก.


ช้า ๆ ได้พร่าเล่มงาม : สำนวนพังเพยนี้ หมายถึง การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้ามุ่งจะให้ได้ประโยชน์สมบูรณ์ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ หรือไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก หรือไม่หมายความว่าจะทำให้งาน " ล่าช้า " จนเกินไป แต่มีความหมายว่า ให้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ สำนวนนี้ คนในสมัยปัจจุบันยังข้องใจอยู่ว่าจะขัดกับสำนวนพังเพยที่ว่า " น้ำขึ้นให้รีบตัก " ซึ่งแปลว่าให้รีบฉกฉวยโอกาส ตรงกันข้ามกับสำนวนนี้ที่ว่า " ได้พร้าเล่มงาม " แต่แท้จริงแล้ว เป็นคำพังเพยที่เตือนให้เราเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมต่างหาก จะช้าหรือรีบร้อนจึงต้องแล้วแต่โอกาส.


ชักใบให้เรือเสีย : หมายถึง การพูดหรือทำอะไรให้เป็นที่ขวาง ๆ หรือทำให้เรื่องในวงสนทนาต้องเขวออกนอหเรื่องไป โดยไม่คิดว่าเรื่องที่เขากำลังพูดหรือทำอยู่นั้นจะมีความสำคัญขนาดไหน. ชาติคางคกยางหัวไม่ตกไม่รู้สำนึก : สำนวนนี้ หมายถึง คนที่อวดดีหรือชอบกระทำนอกลู่นอกทางเมื่อมีคนทักท้วงก็ไม่เชื่อฟัง ยังขืนกระทำ จนเขาหมั่นไส้ปล่อยให้ลองทำเพื่อจะให้รู้สึกตัวบ้าง เพราะเชื่อว่าการกระทำนั้น ๆ จะต้องได้รับอันตรายถึงเลือดตกหรือเจ็บปวดเข้าก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งเปรียบเทียบได้กับเด็กที่ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง เมื่อห้ามด้วยปากไม่เชื่อก็ต้องใช้ไม้เรียวเฆี่ยนทำให้เจ็บตัวเสียก่อนจึงจะรู้สึก

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก : หมายถึง คนที่มีอำนาจราชศักดิ์หรือเป็นใหญ่เป็นโตก็ย่อมข่มคนที่เป็นผู้น้อยกว่าได้หรือจะเปรียบเอาว่า คนที่มีกำลังน้อยกว่าก็ย่อมมีภาษีเหนือกว่าคนที่อ่อนแอได้ ตามหลักธรรมดาทั่วไปที่ว่า " ปลาใหญ่กินปลาเล็ก " และ " ปลาเล็กตอนปลาน้อย " กินกันเป็นทอด ๆ ไป. ปลาข้องเดียวกัน ตัวหนึ่งเน่า ก็พลอยพาให้เหม็นไปด้วย : สำนวนนี้ค่อนข้างจะยาวไปสักหน่อย แต่ก็เป็นที่จำได้ง่าย หรือใช้กันทั่วไป มีความหมายว่า คนที่อยู่ร่วมกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งทำมิดี หรือทำชั่วก็พลอยให้คนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันเสียไปด้วย.


โครงสี่สุภาพ

สุภาษิตบ่งชี้
ชาวไทย
สอนสั่งบอกความนัย
แห่งถ้อย
สำนวนต่างนำไข
ขยายบอก ...มาแม่
คำต่อคำเรียงร้อย
แต่งล้วนโคลงหวาน
๑. กงเกวียนกำเกวียน
เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม
กงเวียนหมุนเล่นล้อ
รอยกง
เปรียบเฉกกรรมหมายตรง
สู่เจ้า
ใครทำก่อกรรมคง
คืนสู่ ใครแล
กรรมย่อมตามรอยเข้า
แก่ผู้กอบกรรม





๒.กบในกะลาครอบ
ผู้มีความรู้ประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กะลาครอบคิดฟ้า
กว้างไกล
เหมือนดั่งคนมั่นใจ

เก่งกล้า
คุยโอ่อวดเกินไป
เขาเบื่อ หน่ายนอ
เพียงหนึ่งจากมือคว้า
เท่านี้กลับหลง







๓.กบเลือกนาย
ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชา
มีนายนายไม่ต้อง
ชะตา
นายกี่คนสรรมา
ขุ่นข้อง
เลือกนายเลือกหลายครา
ยากยิ่ง
มาพบนายโฉดต้อง
ตกห้วงเคืองขม







๔.กรวดน้ำคว่ำขัน
ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กรวดน้ำอุทิศให้
บอกลา
น้ำจิตคิดเคืองมา
ก่อนนี้
คว่ำขันตัดสัญญา
พันผูก นาพ่อ
ขันคว่ำบอกความชี้
เลิกแล้วมิหวน







๕.กระเชอก้นรั่ว
กระเชอภาชนะป้อง
กันของ
กลับรั่วเกินรับรอง
เก็บได้
เปรียบความเช่นชนผอง
สุรุ่ย สุร่ายแล
มิมุ่งออมเงินไว้
จ่ายล้วนหมดเปลือง

๖.กระดังงาลนไฟ
หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงในการปรนนิบัติเอาใจผู้ชาย
กระดังงาผ่านต้อง
ไฟลน
หอมยิ่งหอมอวลอล
ต่างรู้
เปรียบหญิงม่ายหอมดล
ชายปรารถ- นาแฮ
ประสบการณ์เชิงชู้
ยั่วเย้าชายหลง



๗. กระดี่ได้น้ำ
สำนวนเปรียบเทียบคนที่แสดงอาการดีใจตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระดี่ติดแห่งแห้ง
ผื่นนา
มิอาจสืบชะตา
ต่อได้
ฝนพรมพรั่งพรูมา
เริงรื่น นักแล
ใครเช่นปลาเปรียบไซร้
ย่อมต้องถูกหยัน







๘.กระดูกร้องได้
ผลสะท้อนของฆาตกรรมที่ทำให้จับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
คนตายจากเหตุล้วน
ปริศนา
อาจถูกฆาตกรรมพา
ดับสิ้น
ราชการต่างตามหา
เหตุแห่ง ดับแล
ดุจดั่งกระดูกดิ้น
โผล่แจ้งสืบสวน

๑๐.กระต่ายตื่นตูม
คนที่แสดงอาการตกใจโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
ตาลตกกระต่ายเต้น
ตกใจ
ฟ้าถล่มลงไผท
กู่ร้อง
พาพรรคพวกบรรลัย
บาดเจ็บ ล้มแล
สอนสั่งประชาต้อง
สติตั้งครวญถวิล








๑๑.เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
เข้าเมือง รวมพวกพ้อง
ชนใด
ตาหลิ่ว วัฒนธรรมใน
หมู่นั้น
ต้องหลิ่ว ประพฤติวิสัย
เขาเยี่ยง อย่างนา
ตาตาม ผองชนชั้น
อยู่ได้สุขเสมอ



๑๒.เข้าพระเข้านาง

แสดงบทเกี้ยวพาราสี
เข้า ชมชายหนุ่มเกี้ยว
หญิงงาม
พระ เอกนางเอกยาม
ยั่วเย้า
เข้า ใจประจักษ์ความ
บอกบ่ง ไว้แล
นาง เอกถูกรุมเร้า
รักให้ใจหลง

๑๓.เข้าตามตรอกออกตามประตู

ทำตามประเพณี
ชายหญิงรักใคร่ต้อง
ทำตาม แบบนา
ขอสู่ตัวนงราม
ถูกต้อง
หมั้นหมายแต่งงานงาม
สมเกียรติ สกุลแฮ
ผู้ใหญ่มอบหอห้อง
เยี่ยงนี้ถูกการ



๑๔.เขียนด้วยมือลบด้วยตีน

ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง
วาดลวดลายก่อสร้าง
เสร็จงาม
คือส่งเสริมคนยาม
ปลุกปั้น
คราเคืองขุ่นคุกคาม
ขจัด ทำลายแฮ
ยกย่องแต่เดิมนั้น
เปลี่ยนสิ้นแปรผัน


๑๕.เขียนเสือให้วัวกลัว

ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญ
วัวกลัวเสือต่างรู้
มานาน
จึงวาดเสือระราน
หยุดรั้ง
คือคนมุ่งขวางมาร
จิตหวั่น วุ่นแฮ
ดูท่าทียากยั้ง
ที่แท้หลอกลวง


สำนวนโวหาร


ประโยชน์ในการศึกษาสำนวนโวหาร
1. ทำให้ใช้ภาษาในการเขียน ความเรียงต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับความ เรียงที่เขียนขึ้น
2. ทำให้ได้คติสอนใจ ในด้านต่างๆ เช่น
- ด้านการเรียน ตัวอย่างๆ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” “ความรู้ท่วม หัวเอาตัวไม่รอด”
- ด้านการคบค้าสมาคม ตัวอย่าง “คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ” “คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง”
- ด้านการครองเรือน ตัวอย่าง “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน”
- ด้านความรัก ตัวอย่าง “ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน” “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
3. ทำให้ทราบความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในสมัยที่เกิดสำนวนโวหารนั้น ว่ามีความเป็นอยู่ อย่างไร เช่น “อัฐยายซื้อขนมยาย” “แบ่งสันปันส่วน” “หมูไปไก่มา”
4. เป็นการรักษาวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าของไทยไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจ
โดยแบ่งตามลำดับตัวอักษร ก - ฮ




เหตุเกิดจาก.......สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

วันนี้ได้เปิดหนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์เชาว์ท่านได้แจกไว้ให้อ่าน...ก็เริ่มอ่านตั้งแต่หน้าคำปรารภ....ไปสะดุดประโยคหนึ่ง ทำให้ปิ๊งไอเดียที่จะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

...ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดี มีถมไป...
จริงหรือ

…ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว…
ล่ะ


นี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ “สำนวน สุภาษิต คำพังเพยไทย” ที่ถูกดัดแปลงไป หรือ นำไปแปลความหมายผิด ๆ และนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น
...น้ำขึ้น ให้รีบตัก..
หมายถึง มีโอกาส ก็ควรรีบทำ
(ในทางที่ “ดี” หรือ “ชั่ว” ล่ะ?)

…มือใครยาว สาวได้สาวเอา...
หมายถึง ต่างคนต่างฉวยโอกาส แสวงหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่น

…ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา...
สำนวนนี้ เป็นคำสอน ให้มีความมุ่งมั่นพยายามทำให้สำเร็จ

...รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี...
ไม่ใช่หมายถึง เอาตัวเองรอดไว้ก่อน ไม่ได้นึกถึงคนอื่น
แต่หมายถึง ให้ทำตัวเราเองให้ดีเสียก่อน
เช่น “ครูไม่มีความรู้จะสอนนักเรียนได้อย่างไร” จริงไหม?

ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยนำไปใช้ในทางที่ “ชั่ว”
แล้วทำให้สามารถสร้าง “ยศถาบรรดาศักดิ์”
ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจผิด และเลียนแบบ

“ครู” ผู้ซึ่งใกล้ชิดเด็ก ๆ มากที่สุด อยากให้ตระหนักถึงการแปลความหมายและการนำสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็น “ดาบสองคม” ไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร เพื่อจะได้เป็น “ต้นแบบ” ที่ดีให้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ ต่อไป